การทำงาน ของ เชาวรินธร์ ลัทธศักดิ์ศิริ

ร.ต.ท.เชาวรินธร์ก่อนจะมาเล่นการเมืองนั้น เดิมเคยเป็นนายตำรวจที่ติดตามรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีของพรรคประชาธิปัตย์ในสมัยรัฐบาลหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ในเหตุการณ์ 6 ตุลา ร.ต.ท.เชาวรินธร์เป็นผู้ที่อยู่เคียงข้างนายชวน หลีกภัย ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่ทำเนียบรัฐบาล เป็นผู้ที่บอกให้นายชวนหลบหนีไปจากการตามล่าของผู้ชุมนุม แต่นายชวนไม่หนี[4]

ร.ต.ท.เชาวรินธร์มีฉายาว่า "สากกระเบือ" อันเนื่องมาจากครั้งหนึ่งเคยนำสากกระเบือเข้าสภาฯ[5] และ "โกโบริน" อันเนื่องมาจากความเชื่อส่วนตัวที่เชื่อว่า ภายในถ้ำลิเจีย อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี มีขุมทรัพย์โดยเฉพาะทองคำจำนวนมากที่ทหารญี่ปุ่นนำมาซ่อนไว้ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ถึงแม้เจ้าตัวจะพยายามขุดค้นหาและออกข่าวหลายต่อหลายครั้ง แต่ก็ไม่เจอ จนเคยเป็นข่าวโด่งดังมาแล้วครั้งหนึ่งถึงเรื่องพันธบัตร กระนั้น ร.ต.ท.เชาวรินธร์ก็ยังยืนยันว่า เป็นความเชื่อส่วนตัว[6]

ร.ต.ท.เชาวรินธร์เป็นนักการเมืองที่มีประสบการณ์ทางการเมืองมาก เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายสมัยนับตั้งแต่ พ.ศ. 2522 สังกัดพรรคประชาธิปัตย์, พ.ศ. 2526 สังกัดพรรคชาติไทยและอยู่กับพรรคชาติไทยมาตลอดจนถึง พ.ศ. 2544, พ.ศ. 2529, พ.ศ. 2535 และ พ.ศ. 2538 โดยใน พ.ศ. 2538 ร.ต.ท.เชาวรินธร์ได้รับการแต่งตั้งให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการด้วย หลังจากนั้น ร.ต.ท.เชาวรินธร์ตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาในจังหวัดราชบุรี และได้รับเลือก หลังจากนั้นมีการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2549

ร.ต.ท.เชาวรินธร์จึงลงรับเลือกตั้งในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้ง ในระบบสัดส่วน พรรคพลังประชาชน ก่อนที่พรรคจะถูกยุบและย้ายมาสังกัดพรรคเพื่อไทย โดย ร.ต.ท.เชาวรินธร์เป็นหนึ่งในผู้ที่ร่วมการอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี อีกด้วย ซึ่งการอภิปรายในครั้งนั้น ร.ต.ท.เชาวรินธร์ได้นำวีซีดีภาพการฆ่าตัดศีรษะทหารไทยในเหตุการณ์ความไม่สงบในชายแดนภาคใต้มาฉายระหว่างการอภิปรายด้วย ซึ่งหลายฝ่ายได้ออกมาประณามในกรณีนี้[7]

ร.ต.ท.เชาวรินธร์เคยไม่ได้รับการเลือกตั้งครั้งหนึ่งจากการเลือกตั้งเมื่อ พ.ศ. 2539 โดยแพ้ให้กับ ดร.บุญมาก ศิริเนาวกุล จากพรรคประชาธิปัตย์ และนายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี จากพรรคชาติพัฒนา และในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2554 ซึ่งลงสมัครในระบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 100[8] แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ยุทธศักดิ์ ศศิประภา)[9]เนื่องจากเคยเข้าร่วมชุมนุมปราศัยกับกลุ่มนปช.ในปีพ.ศ. 2553 ที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ[10]

นอกจากนี้แล้ว ร.ต.ท.เชาวรินธร์ยังเป็นผู้ที่ชื่นชอบการแต่งเครื่องแบบข้าราชการ โดยเฉพาะเครื่องแบบที่ต้องติดตราประดับหรือแพรแถบต่างๆรวมถึงการพูดคำหยาบคายในรัฐสภา[11]

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

  • สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดราชบุรี พุทธศักราช 2526
  • สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดราชบุรี พุทธศักราช 2529
  • สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดราชบุรี พุทธศักราช 2535/1
  • สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดราชบุรี พุทธศักราช 2535/2
  • สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดราชบุรี พุทธศักราช 2538
  • สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระบบสัดส่วน พุทธศักราช 2551

สมาชิกวุฒิสภา

  • สมาชิกวุฒิสภา จังหวัดราชบุรี 2543 - 2549

แหล่งที่มา

WikiPedia: เชาวรินธร์ ลัทธศักดิ์ศิริ http://www.chaliang.com/Board-Detail.asp?ID=02568 http://www.pochnews.com/news/political/4658.htm http://news.sanook.com/912654/ http://www.komchadluek.net/detail/20150112/199347.... http://www.oknation.net/blog/chakkrish/2009/03/20/... http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsI... http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?Ne... http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1... http://www.matichon.co.th/webmobile/readnews.php?n... http://www.thairath.co.th/content/443299